ASIANPLUS TRAVEL’S NEWS
เปรียบเทียบประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ทั้ง 4 ชนิด
May 3, 2021 by ASIAN PLUS TRAVEL

รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รวบรวมข้อมูลวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพวัคซีนของบริษัทต่างๆ ที่มีรายละเอียดดังนี้

วัคซีนชนิดที่ 1 “mRNA vaccine”

ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 หรือไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดวัคซีนเข้ามาในร่างกายมนุษย์ ตัวสารพันธุกรรมจะทำร่างกายมนุษย์สร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา ซึ่งวัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรงที่สุดตอนนี้ คือ วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer BioNTech) และของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ข้อดีของวัคซีนตัวนี้ คือ ผลิตง่าย รวดเร็ว ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก และราคาไม่สูงมาก แต่มีข้อจำกัดคือ เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ที่เคยมีใช้ทั่วโลกก่อนหน้านี้ ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีนี้ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในระยะยาวและประสบการณ์การใช้อาจมีไม่มากนัก นอกจากนี้วัคซีนในกลุ่มนี้ยังจำเป็นต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาก เช่น -70 หรือ -20 องศาเซลเซียส เพื่อให้คงประสิทธิภาพไว้ได้

วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer/BioNTech) ประสิทธิภาพของวัคซีน ตามที่ตีพิมพ์ออกมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 95% โดยให้วัคชีน 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส

วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ประสิทธิภาพของวัคซีน ตามที่ตีพิมพ์ออกมาล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 94% โดยให้วัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนต้องเก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส (ได้นาน 6 เดือน) หรือเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (ได้นาน 1 เดือน)

วัคซีนชนิดที่ 2 “viral vector vaccine”

โดยใช้หลักการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปในไวรัสพาหะชนิดอื่นๆ เช่น adenovirus เพื่อพาเข้ามาในร่างกายมนุษย์ และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาได้ โดยวัคซีนในกลุ่มนี้ ตัวที่มาแรง ได้แก่ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ร่วมกับ University of Oxford ของประเทศอังกฤษ ข้อดีของวัคซีนในกลุ่มนี้ คือ เป็นวัคซีนที่เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ผลิตได้ง่าย เร็ว ราคาไม่สูง ข้อด้อยของวัคซีน คือ ยังไม่มีประสบการณ์ใช้ในวงกว้าง และในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสที่ใช้เป็นพาหะมาก่อน วัคซีนอาจกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีมากนัก

วัคซีนตัวนี้ เป็นตัวที่รัฐบาลไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัย Oxford และบริษัท AstraZeneca ทั้งนี้วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ใช้ไวรัส Adenovirus ของลิงชิมแปนซี เป็นไวรัสพาหะ และจากการศึกษาวิจัยพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเฉลี่ยโดยรวม 70% (โดยกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนครึ่งโด๊ส ตามด้วย 1 โด๊ส ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 90% และอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 โด๊ส ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 62%) โดยให้วัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศา (อย่างน้อย 6 เดือน)

วัคซีนชนิดที่ 3 “วัคซีนแบบใช้โปรตีน (protein-based vaccine)”

เป็นวัคซีนที่ประกอบด้วยโปรตีนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) โดยอาจใช้เป็นชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) เป็นต้น ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ ผลิตได้ง่าย รวดเร็ว ราคาไม่แพง และเคยมีประสบการณ์การใช้มาก่อน แต่อาจต้องใช้สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เพื่อให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดี วัคซีนในกลุ่มนี้ที่มาแรง ได้แก่ วัคซีน Novavax

วัคซีนชนิดที่ 4 “วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine)”

ผลิตโดยการใช้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้ว วัคซีนตัวที่มาแรงในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ซึ่งเป็นของบริษัทซิโนแวค (SinoVac) ประเทศจีน ข้อดีของวัคซีนในกลุ่มนี้ คือ ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีมานาน จึงมีประสบการณ์และความมั่นใจในการใช้เป็นอย่างดี แต่ข้อจำกัด คือ ราคาวัคซีนอาจจะค่อนข้างสูง เนื่องจากกรรมวิธีในการผลิตต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับที่ 3

สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีน จากการศึกษาในประเทศบราซิลพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเฉลี่ยอยู่ที่ >50.3% (รวมอาสาสมัครที่ติดเชื้อทั้งที่มีอาการรุนแรงและไม่รุนแรง) โดยให้วัคชีน 2 ครั้ง ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การเก็บรักษาวัคซีนสามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) มีข้อสรุปว่าต้องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีด 70 ล้านโดสนั้น จะเพิ่มให้ได้ 100 ล้านโดส โดยขณะนี้ มีวัคซีนอยู่ 65 ล้านโดส และจะต้องจัดหาอีก 35 ล้านโดส ซึ่งได้มี 3 แนวทางในการจัดหา คือ

  1. ให้ภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรมไปจัดซื้อเพิ่มเติม ขณะนี้เจรจาแล้วหลายบริษัท
  2. ภาคเอกชน โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยินดีบริจาคเงินให้รัฐบาลซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย เช่น แรงงานในโรงงาน 10 ล้านโดส
  3. โรงพยาบาลเอกชนขอจัดซื้อเอง เพื่อฉีดให้ผู้รับบริการของโรงพยาบาลเอกชน เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว

 

 

⚕️ข้อมูลโดย: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (https://bit.ly/3eQrnZM)

(จากข้อมูลปัจจุบัน ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564)

 

#AsianPlusTravel #YourBestTourOperatorPartner #ThailandUpdate #COVID #OpenThailandSafely #VaccinePassports #covidvaccine #AmazingThailand #ไวรัสโควิด19 #COVID19 #วัคซีน

ASIAN PLUS TRAVEL
Related Posts:
  1. Yee Peng Festival
  2. A group of leading tour operators and hoteliers in Thailand has launched a campaign to reopen the country on July 1, 2021.⁣
  3. Phuket to reopen to vaccinated foreign tourists without quarantine from 1 July 2021
  4. Chiang Mai named World’s Best City for a Beautiful Bike Ride, according to Instagram data
  5. Moderna COVID-19 vaccine waits for approval from Thai FDA
LEAVE A REPLY
Your email address will not be published. Required fields are marked *
Comment *
Please enter your comment.
Name *
Please enter your name.
Email *
Please enter your e-mail.
Website
ASIAN PLUS TRAVEL
DESIGN YOUR TRIP


Our Associations

Our Awards

Our Office
259/208 Mahidol Road, Chang Klan, Muang, Chiang Mai - Thailand 50100

Hotline:
+669 8909 8262
Email:
contact@asianplustravel.com
Accept Payment Via
     
Social
       


BACK TO TOP